หาชื้อสินค้าได้ตามแมคโครทุกสาขาทั่วประเทศ หน่วยรถของทางบริษัท และร้านค้าส่งทั่วประเทศ

ข่าวสารและกิจกรรม : ภาพรวมสถานการณ์เมล็ดกาแฟของไทยเมื่อเปิด AEC

ภาพรวมสถานการณ์เมล็ดกาแฟของไทยเมื่อเปิด AEC

กาแฟ เป็นหนึ่งในอาหารเช้ายอดนิยมของคนทั่วโลกมาเป็นเวลานาน และสำหรับประเทศไทยนั้น กาแฟนอกจากจะเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันแล้ว กาแฟยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเกษตรกรในภาคใต้และภาคเหนือของไทย ในจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ และเชียงรายซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการเพาะปลูกกาแฟเป็นจำนวนมาก ครอบคลุมครัวเรือนเกษตรกร 28,698 ครัวเรือนในปี 2551 และสามารถทำรายได้เข้าประเทศจากการส่งออกเมล็ดกาแฟในปี 2551 เป็นมูลค่า 150.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นปริมาณเท่ากับ 1,662 ตัน ซึ่งหากเทียบกับประเทศคู่แข่งในอาเซียนด้วยกันแล้ว พบว่าไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 3 รองจากประเทศเวียดนามซึ่งเป็นประเทศส่งออกกาแฟอันดับหนึ่งของเซียนและอันดับ สองของโลก และประเทศอินโดนีเซีย

จากการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเริ่มแล้วในการลดภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟในปี 2553 นั้น ได้มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเมล็ดกาแฟ และกาแฟสำเร็จรูปด้วย โดยสินค้ากาแฟสำเร็จรูป ได้ลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน แต่สำหรับสินค้าเมล็ดกาแฟนั้นถูกจัดว่าเป็นสินค้าอ่อนไหว (Sensitive List) ที่จำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับตัวนานกว่าสินค้ากลุ่มอื่นๆ จึงกำหนดให้ลดภาษีนำเข้าในปี 2553 มาอยู่ที่ 5% และจะลดลงเป็น 0% ในปี 2558 เช่นเดียวกับประเทศบรูไนและมาเลเซียที่กำหนดให้สินค้ากาแฟเป็นสินค้าอ่อนไหว เช่นกัน สำหรับสถานการณ์ด้านการผลิต การบริโภค รวมถึงการส่งออกกาแฟของไทย

การประเมินสถานการณ์เมื่อเปิดเสรีอาเซียน AEC ในปี 2558
จากปัจจุบันปี 2554 จนถึง 2558 ไทยอาจเสียส่วนแบ่งการตลาดเมล็ดกาแฟในตลาดอาเซียนให้เวียดนาม 0.1% เป็นมูลค่าประมาณ 0.2ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเสียเปรียบเรื่องต้นทุน และพื้นที่การเพราะปลูกที่ไม่เพียงพอ

สรุปยุทธศาสตร์เมล็ดกาแฟไทย ภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

1. ยุทธศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพให้พื้นที่ปลูกกาแฟ
ต้องเสริมสร้างรากฐานการผลิตกาแฟให้มีประสิทธิภาพ เช่น ต้นทุนต่ำ ผลผลิตต่อไร่สูง ผลผลิตมีคุณภาพ และปริมาณผลผลิตสม่ำเสมอ เป็นต้น โดยจัดการระบบ ชลประทานในพื้นที่ขาดแคลนน้ำให้มีน้ำเพียงพอในช่วงที่จำเป็นต่อการเพาะปลูก กาแฟ วิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งประเทศ คุณสมบัติของดิน สภาพอากาศ และประเมินความรู้ความสามารถของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ เพื่อดำเนินการจัดอบรมความรู้ให้เกษตรกรในแต่ละพื้นที่
2. ยุทธศาสตร์เพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่
2.1 ปรับปรุงต้นกาแฟที่เสื่อมโทรม โดยการตัดต้นกาแฟเพื่อให้เกิดการแตกกิ่งใหม่ ทั้งนี้หน่วยงานและนักวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้องควรลงพื้นที่สาธิตวิธีการทำ ที่ถูกต้องให้เกษตรกร
2.2 พัฒนาประสิทธิภาพดิน เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตและทำให้กาแฟมีคุณภาพ โดยการสำรวจพื้นที่เพาะปลูกกาแฟในประเทศ วิเคราะห์ข้อมูลทรัพยากรดินเพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมและประสิทธิภาพของ ดินในแต่ละพื้นที่ จัดทำฐานข้อมูลลักษณะของดินในแต่ละพื้นที่เพาะปลูก จัดทำแปลงสาธิตและถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร

3. ยุทธศาสตร์รักษาคุณภาพผลผลิตกาแฟ
3.1 ปรับปรุงกาแฟสายพันธุ์ใหม่ให้มีปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงกว่าพันธุ์เก่า สามารถต้านทานโรคพืชต่างๆ ได้ดีกว่า
3.2 ส่งเสริมให้เกษตรกรกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสานเพื่อลดการใช้สารเคมี จัดทำคู่มือแจกให้เกษตรกรทราบวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการรักษาคุณภาพของกาแฟไทยให้ปลอดสารพิษ
3.3 พัฒนาการผลิตของเกษตรกรให้ได้มาตรฐาน GAP(Good Aquaculture Practice) โดยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตกาแฟ จัดเวทีชุมชนเพื่อวิเคราะห์สภาพพื้นที่ ปัญหา ความต้องการเกษตรกร แนวทางการพัฒนาเฉพาะพื้นที่
4. ยุทธศาสตร์ลดต้นทุนการผลิต
4.1 ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแซม เช่น ยางพารา สะตอ ไม้ผล เป็นต้น เพื่อรักษารายได้ ลดความเสี่ยงและแรงกดดันของรายได้ในกรณีราคากาแฟตกต่ำ
4.2 รวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้มีการซื้อวัตถุดิบในการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และสารเคมี เป็นต้น ในปริมาณมาก ซึ่งจะได้ราคาถูกกว่า รวมทั้งเป็นการเฉลี่ยต้นทุนด้านการขนส่งวัตถุดิบ และเมล็ดกาแฟ
4.3 กำหนดช่วงของค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสม และเป็นธรรมแก่ผู้ผลิตและแรงงานในแต่ละช่วงเวลา
4.4 ส่งเสริมให้เกิดการจ้างแรงงานที่มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่นั้นๆ โดยสนับสนุนสวัสดิการทางสังคม เพื่อจูงใจให้แรงงานกลับมาทำงานพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง
5. ยุทธศาสต์ด้านการเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมการบริโภคกาแฟไทย
5.1 สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ สูตรกาแฟ และบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด
5.2 คิดค้นกาแฟสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และมีรสชาติดี กลิ่นหอม
5.3 รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้คนไทยบริโภคกาแฟไทย รวมทั้งให้ความรู้ประชาชนและผู้ประกอบการร้านกาแฟรายย่อยได้ทราบถึงประโยชน์ ของการดื่มกาแฟที่มีคุณภาพ และเทคนิคในการเลือก
6. ยุทธศาสตร์การสร้างเอกลักษณ์ของกาแฟไทย
6.1 กำหนดเอกลักษณ์กาแฟไทย ทั้งกลิ่น รสชาติ และถิ่นที่ปลูก พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ หรือออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำได้ว่ากาแฟไทยมีกลิ่นและรสชาติอย่างไร
6.2 ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มสร้างตราสินค้าของตนเอง โดยให้สถาบันการศึกษาของรัฐหรือเอกชนที่สนใจเข้าร่วมสร้างตราสินค้าและรูป แบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
7. ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร และผู้ผลิตกาแฟสำเร็จรูป
7.1 เพิ่มช่องทางการเผยแพร่ ข่าวสาร และแหล่งข้อมูลให้เกษตรกร เช่น การส่งข้อความสั้นผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ทางไปรษณีย์ เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรทราบและหาข้อมูลเพิ่มเติมได้เอง
7.2 จัดการประชุมร่วมกันระหว่างเกษตรกรและผู้ผลิตกาแฟสำเร็จรูปในประเทศไทย เพื่อร่วมกันกำหนดราคาขายเมล็ดกาแฟที่เหมาะสม รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านอื่นๆ เช่น คุณภาพเมล็ดกาแฟที่ต้องการความต้องการเมล็ดกาแฟปีหน้า เป็นต้น ทำให้ความสัมพันธ์เข้มแข็ง
8. ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ
ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินยุทธศาสตร์กาแฟของไทย ควรมีการดำเนินงานอย่างจริงจัง และจัด
ประชุมนำเสนอผลการดำเนินงานเป็นระยะๆ ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย